f
title
แขวงทางหลวงจันทบุรี
วิสัยทัศน์ : มุ่งเน้นพัฒนาระบบทางหลวงตามมาตรฐานสากลเพื่อเสริมสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมสนองตอบความต้องการของผู้ใช้ทาง
เปิดแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว6”อุบล-สาละวัน”
ลงวันที่ 21/11/2562

เปิดแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว6”อุบล-สาละวัน”
*อ่อนน้อมถ่อมตน-ดอกบัว-ช้างยินดี
*ทล.เตรียมเสนอครม.อนุมัติโครงการ

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ทล.มีแผนก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเพิ่มอีก 2 แห่ง 1.สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 62 โดยทล.อยู่ระหว่างรอฝั่งลาวลงนามสัญญากู้เงินกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. คาดว่าอีกภายใน 1-2 เดือนจะลงนามสัญญาได้

ในส่วนของทล. ได้เตรียมงบประมาณปี 63 เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาทันทีหากฝ่ายลาวลงนามสัญญากู้เงินแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้เอกชนที่ชนะโครงการเพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 63 เปิดบริการปี 66 และ 2.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน)จะเพิ่มสะพานมิตรภาพไทย-ลาวรวมเป็น 6 แห่งจากที่เปิดบริการแล้ว 4 แห่ง

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6(อุบลราชธานี-สาละวัน) ทล. ได้สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ เตรียมหารือรูปแบบการก่อสร้างกับ สปป.ลาว หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะเสนอผู้บริหารเพื่อนำเสนอครม. ขออนุมัติโครงการในปี63 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี64

สะพานแห่งนี้มีความยาวรวม 1,607 เมตร เฉพาะตัวสะพานยาว 1,020 เมตร งานทางลาดลงจากตัวสะพานความยาวฝั่งไทย 517 เมตร ฝั่งลาว 70 เมตร เชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 2112 (ไทย) กับทางหลวงหมายเลข 13 (สปป.ลาว) อ.นาตาล (ไทย)-เมืองละครเพ็ง (สปป.ลาว) มีถนนฝั่งไทย 4.325 กม. ถนนฝั่งลาว 17.509 กม. อาคารด่าน (BCF) ในไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งจุดเปลี่ยนทิศทางการจราจรอยู่ในฝั่งไทย วงเงินดำเนินการ 4,270 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างได้ออกแบบด้วยความพิเศษถึง 10 องค์ประกอบได้แก่ 1.วงเวียนฝั่งประเทศไทย เป็นวงเวียนขนาดใหญ่ มีประติมากรรมดอกบัวเพื่อดึงดูดสายตาผู้ใช้รถใช้ถนน มี 2 แห่ง คือ วงเวียนตัดทางหลวงหมายเลข 2112 และวงเวียนหน้าด่านอุบลราชธานี

2.ด่านอุบลราชธานี เป็นอาคารที่มีการผสมผสานระหว่างพื้นที่ใช้สอยของผู้ข้ามแดนและสินค้าข้ามแดน ใช้สัญลักษณ์ดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำ จ.อุบลราชธานี เป็นรูปแบบของด่านพรมแดน 3.จุดสลับทิศทางจราจร เป็นถนนขนาด 1 ช่องจราจร ผิวทางลาดยางกว้าง 1 เมตร หากเกิดกรณีฉุกเฉินสามารถนำรถเข้าจอดริมเขตทางและรถคันอื่นสามารถผ่านได้

4.เชิงลาดสะพานฝั่งประเทศไทย ออกแบบโดยใช้ประติมากรรมรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติไทยในลักษณะยินดีต้อนรับแด่แขกผู้มาเยือนจากต่างแดน 5.เสาไฟฟ้าใช้รูปแบบที่สื่อถึงต้นไม้ แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและแผ่ใบไม้เพื่อให้ร่มเงาแสดงถึงมิตรที่ให้ซึ่งกันและกัน โดยรวมแล้วหมายถึงความยินดีต้อนรับเข้าสู่ประเทศ

6.สะพานข้างแม่น้ำโขง เป็นสะพานแบบโค้ง (Arch) ขนาด 2 ช่องทางจราจร ขนาดช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.00 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยแถบกลางกว้าง 1.20 เมตร พร้อมทางเท้าขนาด 1.25 เมตรทั้งสองฝั่งเส้นโค้งของสะพาน เปรียบเสมือนเส้นภูเขาและเกลียวคลื่นที่อ่อนโยนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว เข้าด้วยกัน ส่วนตัวสะพานสีขาวเปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ของมิตรภาพที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน

7.ลานพักผ่อนริมแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่กิจกรรมอเนกประสงค์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เพื่อสาธารณะประโยชน์และชมทัศนียภาพโดยรอบของตัวสะพาน 8.เชิงสะพานฝั่ง สปป.ลาว ประติมากรรมบริเวณเชิงลาดสะพานฝั่ง สปป.ลาว เป็นซุ้มประตูรูปแคนคู่ เครื่องดนตรีประจำชาติ สปป.ลาว 9.ด่านสาละวันเป็นอาคารผสมผสานกันระหว่างพื้นที่ใช้สอยของผู้ข้ามแดนและสินค้าข้ามแดน โดยใช้รูปปั้นช้าง 3 เชือก เป็นรูปแบบของด่านพรมแดน

และ 10.วงเวียนฝั่ง สปป.ลาว ออกแบบมีประติมากรรมรูปปั้นช้าง เพื่อดึงดูดสายตาให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนให้ทราบว่ามีทางแยก จัดให้มี 3 แห่ง คือวงเวียนก่อนเข้าสู่ด่านสาละวันจากสะพานข้างแม่น้ำโขง วงเวียนหน้าด่านสาละวันในทิศทางจากบ้านปากตะพาน แขวงละครเพ็ง สปป.ลาว และวงเวียนบริเวณทางแยกจุดตัดทางเส้นทางโครงการกับทางหลวงหมายเลข 11

ทั้งหมดนี้ล้วนสื่อความหมายตอกย้ำสัมพันธภาพที่มีมาอย่างยาวนานของ2ประเทศเพื่อนบ้าน

***ฝากกด like ????กด share ????เพจข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์ ด้วยนะจ๊ะ??

#ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง
#กรมทางหลวง
#สะพานมิตรภาพไทยลาว6อุบลสาละวัน


'